Thursday, July 23, 2009

การเลือกที่จะมีความสุข

Happiness is A Choice
การเลือกที่จะมีความสุข
โดย Ruth Cherry, Ph.D.

นักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำของมลรัฐ(ของประเทศสหรัฐอเมริกา)ไม่ค่อยจะมีทางเลือกในชีวิตเท่าไหร่นัก เหล่าหนุ่มนักโทษวัยฉกรรจ์มักจะบ่นคร่ำถึงการต้องคอยทำตามคำสั่งหรือได้รับการปฏิบัติแบบลวกๆ จากเจ้าหน้าที่ผู้คุมขัง ในขณะที่กลุ่มนักโทษอาวุโสที่ผ่านชีวิตการเป็นนักโทษมานาน มักจะยิ้มๆโดยไม่ค่อยพูดอะไรมากมายนัก กลุ่มนักโทษอาวุโสล้วนรู้ดีว่าครั้นจะโมโหไปหรือแสดงความไม่พอใจไปก็เท่านั้น เพราะมันไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นซักอย่าง ในฐานะที่ฉันต้องคลุกคลีกับนักโทษเหล่านี้ ทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากพวกเขา พวกเขาสอนให้ฉันเข้าใจถึงทางเลือกที่คนทั่วไปไม่วันจะยอมรับได้ นั่นคือ การที่พวกเขาสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง

นักโทษเหล่านี้รู้ดีว่า “ความสุข” ไม่ใช่เกิดจากที่เราได้สิ่งที่เราต้องการ หรือการได้รับในสิ่งที่ร้องขอ หรือรู้สึกว่าเราควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ หากความสุขคือปฏิกิริยาตอบสนองที่เรามีต่อชีวิตของเราเอง ไม่ว่าเหตุการณ์วันนี้ของชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร คุณสามารถเลือกที่จะมีความสุขกับมันได้ตลอดเวลา
ดังนั้นหากมองความสุขเช่นนี้ ความสุขก็ไม่ใช่ความรู้สึกแต่เป็นสภาวะหนึ่งของชีวิต ความสุขมิได้บังเกิดจากเหตุการณ์ที่นอกเหนือจากอิทธิพลของตัวเรา หรือไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับชัยชนะบางอย่าง

-ความสุข คือ วิถีของชีวิต
-ความสุข คือ การบอกกับตัวเองว่า “ใช่เลย” “ขอบคุณ” และ “ฉันรับได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง”
-ความสุข คือ การปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกต่อต้าน และ ความดื้อดึงที่ไร้สาระ และเลือกที่จะเปิดใจ
-ความสุข คือ การใช้ชีวิตให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้และสามารถพูดกับตัวเองได้ว่า “ฉันช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้”

ความสุข ไม่ได้ขึ้นกับว่า สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกดีหรือไม่ หรือว่า สิ่งต่างๆมันเป็นไปในแบบที่เราต้องการให้มันเป็นหรือเปล่า
เราเลือกที่จะมีความสุขเพราะว่ามันเป็นทางเลือกที่ฉลาดและเหมาะสมที่สุดที่เราสามารถเลือกให้กับชีวิต แต่ไม่ใช่เพราะว่ามันฟังดูแล้วเข้าท่า
เคยไหมบางครั้งที่คุณพูดกับตัวเองว่า “เนี่ยนะถ้าฉันรวยกว่านี้ มีงานทำที่ดีกว่านี้ มีแฟนที่เจ๋งกว่านี้ และ ....... กว่านี้ ฉันก็จะมีความสุขมากกว่านี้” ในความเป็นจริงนั้นมันเกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม เพียงคุณทำตัวให้มีความสุข โลกใบนี้ก็จะให้ของขวัญอันแสนล้ำค่าแก่คุณ

เมื่อคุณสรรเสริญให้กับชีวิตตนเอง ชีวิตก็สรรเสริญคุณกลับ เมื่อถึงตอนนั้นคุณก็จะสัมผัสได้ว่า ความมหัศจรรย์และความลี้ลับที่คุณได้รับจากการสัมผัสกับชั่วทุกขณะของประสบการณ์ต่างๆ นั้นมันยิ่งใหญ่กว่าที่คุณสามารถจินตนาการเหลือคณานับ การเลือกที่จะมีความสุข คือการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีชีวาได้ในทุกขณะ โดยไม่ต้องสนใจว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร คุณว่ามันช่างน่าขันมั้ยหละ ที่ว่าเราต่างก็พยายามเสาะหาทุกวิถีทางที่จะทำให้เรามีความสุข ทั้งๆที่สามารถทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการ “ยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและมีความสุขกับทุกๆขณะของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา”

การปฏิบัติตัวในการเลือกที่จะมีความสุขเป็นประหนึ่งบทเรียนในวิชาการยอมรับและความรู้สึกเชื่อใจ ความสงบสุขลึกๆก็จะเริ่มเกิดขึ้นในจิตใจ และหากเราเข้าใจถึงวิถีของชีวิตและปล่อยให้เป็นตามครรลองของมัน เราก็เป็นตัวของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น มันเป็นการยอมรับว่าชีวิตนี้นี่แหละ “ใช่เลย” โดยไม่พยายามไปแทรกแซงหรือควบคุมวิถีของมัน ความสุขในแบบนี้ไม่ใช่ความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว มันไม่เกี่ยวกับสิ่งไหน หรือเกิดจากใคร ที่จะทำให้มันเกิดขึ้นหรือว่าไม่เกิดขึ้น เพียงแค่เรายืนยันกับตัวเองว่าเราเลือกที่จะมีความสุข ก็ไม่มีใครหรือสิ่งใดจะมาพรากความสุขนั้นไปจากเราได้ เพราะว่าเราคือผู้ควบคุมทุกสิ่งอย่างในชีวิตของเราเอง

ความพยายามที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเพื่อที่จะทำให้รู้สึกดีนั้นช่างเป็นความพยายามที่สูญเปล่า อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่อธิบายว่าทำไมเหล่านักโทษจึงเรียนรู้บทเรียนเรื่องนี้ได้รวดเร็วกว่าคนทั่วไปเช่นเรา เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย และไม่สามารถแม้แต่จะคิดหวังไปควบคุมอะไร ทางเลือกที่พวกเขามีจึงชัดเจน และเราก็สามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้

เอกสารอ้างอิง:
Carlson, R. and Carlson, K. Don't Sweat the Small Stuff. New York, Hyperion, 1999

เกี่ยวกับผู้เขียน:
ดร. รูธ เชอรี่ เป็นนักจิตวิทยาคลินิก ในเมือง San Luis Obispo มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเผชิญกับภาวะวิกฤติในวัยกลางคน ดร.เชอรี่ ฝึกสอนการทำสมาธิเป็นกลุ่ม ให้กับบุคคลทั่วไปและให้กับนักโทษในเรือนจำแห่งมลรัฐ

บทความนี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกเมือวันที่ 16 ธันวาคม 2551

ถอดความเป็นภาษาไทยโดย น้ำผึ้ง ปทานุคม (B.Sc., MBA, MSCP) โดยได้รับอนุญาติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Marlene M. Maheu, Ph.D.(ดร.มาลีน มาฮิว) แห่ง SelfhelpMagazine
เลือกอ่าน ต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษ

No comments: