Thursday, July 30, 2009

พฤติกรรมการลวนลามทางเพศเล็กๆน้อยๆ ส่งผลกระทบถึงประสบการณ์ของผู้หญิง ที่มีต่อสถานที่ทำงาน

Mild Sexual Harassment Impacts Women'S Experience of the Workplace
พฤติกรรมการลวนลามทางเพศเล็กๆน้อยๆ ส่งผลกระทบถึงประสบการณ์ของผู้หญิง ที่มีต่อสถานที่ทำงาน
โดย
Kimberly T. Schneider, Ph.D.

นักวิจัยเปิดเผยผลจากการศึกษาพบว่าการลวนลามทางเพศเล็กๆน้อยๆ เช่นการใช้คำติเตียนที่ไม่ค่อยไพเราะ หรือ การเล่าเรื่องตลกในเชิงเสียดสีทางเพศ ในระยะยาวนั้นสามารถเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องทนทุกข์ทรมานกับการต่อสู้กับสภาวะความเครียดของตนเอง

เราพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการล่วงละเมิดทางเพศแม้เพียงเล็กๆน้อยๆ เช่นการยกเอาเรื่องเพศมาพูดคุยให้เป็นประเด็นที่ทำให้รู้สึกอึดอัด มักมีสภาวะทางสุขภาพจิตที่ถดถอย และมีทัศนคติต่อการทำงานที่แย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ต้องเผชิญกับพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ดร.คิมเบอร์ลี่ ชไนเดอร์ นักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยเท็กซัส ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยร่วมกับ ดร.ซูซาน สวอน จาก มหาวิทยาลัยเยล และ ดร.ลูอิส ฟิตเจอรัลด์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์

ทีมวิจัยทำการศึกษาผลกระทบจากพฤติกรรมการลวนลามทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญจากสภาพแวดล้อมในอาชีพการงานที่แตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ประกอบไปด้วย ผู้หญิงที่ทำงานในภาคเอกชนจำนวน 447 คน และ มีจำนวน 300 คนเป็นกลุ่มพนักงานหญิงซึ่งทำงานในมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้ถูกสอบถามถึงความถี่ที่พวกเธอต้องเผชิญกับพฤติกรรมในเชิงเสียดสีทางเพศ การใช้คำพูดที่หยาบโลน และ พฤติกรรมการแทะโลมทีทำให้พวกเธอรู้สึกอึดอัด (เช่น การถูกเนื้อต้องตัว การโอบกอด การแสดงความเป็นกันเองโดยใช้มือถูไถตามบางส่วนของร่างกาย หรือ การพยายามคะยั้นคะยอชวนไปออกเดท)

กลุ่มตัวอย่างยังถูกถามเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมที่ใกล้เคียงในรูปแบบอื่นๆ ว่าเกิดขึ้นบ่อยเพียงใด เช่น การได้รับข้อเสนอทางเพศเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการถูกข่มขู่ให้ออกจากงานหรือสัญญาว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งในการทำงาน

ท้ายสุด ผู้วิจัยได้ถามถึงความรู้สึกพึงพอใจต่อตัวงานของพวกเธอ ความพอใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และ ความถี่ของการลาป่วย การมาทำงานสาย หรือ การที่ไม่อยากจะสุงสิงกับใครๆในที่ทำงาน

ผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ไม่รุนแรง เช่น การพูดจาเสียดสีทางเพศ ในความถี่ในระดับปานกลางถึงสูงมาก มักมีความรู้สึกไม่พึงพอใจในงานที่พวกเธอทำอยู่ และยิ่งไปกว่านั้นยังต้องทนทุกข์ทรมานกับการทึ่พวกเธอต้องเผชิญกับสภาวะความเครียดของตนเอง มากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว

ดร.ชไนเดอร์ กล่าวว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากการศึกษาครั้งนี้บอกว่า แม้พฤติกรรมดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากแต่มันเกิดขึ้นจนบ่อยในระดับหนึ่งมันก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ที่ถูกกระทำ

มันไม่มีความจำเป็นตรงไหนเลยที่ผู้หญิงจะต้องโดนบีบบังคับให้จำยอมกับสถานการณ์และพฤติกรรมดังกล่าว และต้องทำให้พวกเธอรู้สึกแย่ๆกับงานของตนเอง ทางคณะผู้ศึกษาขอเสนอแนะ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการทั้งหลายว่าไม่ควรจะละเลยหรือเพิกเฉยหากมีการร้องเรียนในเรื่องการคุกคามทางเพศจากพนักงานในองค์กรของตนเอง ถึงแม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะดูเหมือนเป็นกรณีเล็กๆน้อยๆ ก็ตาม หากแต่ว่าสำหรับพนักงานผู้เป็นเป้าหมายของพฤติกรรมดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงอย่างยิ่งในฐานะผู้ถูกกระทำ

เอกสารอ้างอิง:
"Job-Related and Psychological Effects of Sexual Harassment in the Workplace: Empirical Evidence From Two Organizations"by Kimberly T. Schneider, Ph.D., University of Texas at El Paso,Louise F. Fitzgerald, Ph.D., University of Illinois at Urbana-Champaign & Suzanne Swan, Ph.D., Yale University in Journal of Applied Psychology, Vol. 82, No. 3.

ข้อมูลจาก สมาคมจิดวิทยาแห่งอเมริกา วอชิงตัน ดีซี
ต้นฉบับออกเผยแพร่ครั้งแรกเมือวันที่
26 พฤษภาคม 2541
ปรับปรุงข้อมูลโดย ดร.มาลีน มาฮิว

ถอดความโดย น้ำผึ้ง ปทานุคม (B.Sc., MBA, MSCP) โดยได้รับอนุญาติเป็นลายลักษณ์อักษรโดย Marlene M. Maheu, Ph.D.(ดร.มาลีน มาฮิว) จาก SelfhelpMagazine จากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษ:

Thursday, July 23, 2009

การเลือกที่จะมีความสุข

Happiness is A Choice
การเลือกที่จะมีความสุข
โดย Ruth Cherry, Ph.D.

นักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำของมลรัฐ(ของประเทศสหรัฐอเมริกา)ไม่ค่อยจะมีทางเลือกในชีวิตเท่าไหร่นัก เหล่าหนุ่มนักโทษวัยฉกรรจ์มักจะบ่นคร่ำถึงการต้องคอยทำตามคำสั่งหรือได้รับการปฏิบัติแบบลวกๆ จากเจ้าหน้าที่ผู้คุมขัง ในขณะที่กลุ่มนักโทษอาวุโสที่ผ่านชีวิตการเป็นนักโทษมานาน มักจะยิ้มๆโดยไม่ค่อยพูดอะไรมากมายนัก กลุ่มนักโทษอาวุโสล้วนรู้ดีว่าครั้นจะโมโหไปหรือแสดงความไม่พอใจไปก็เท่านั้น เพราะมันไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นซักอย่าง ในฐานะที่ฉันต้องคลุกคลีกับนักโทษเหล่านี้ ทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากพวกเขา พวกเขาสอนให้ฉันเข้าใจถึงทางเลือกที่คนทั่วไปไม่วันจะยอมรับได้ นั่นคือ การที่พวกเขาสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง

นักโทษเหล่านี้รู้ดีว่า “ความสุข” ไม่ใช่เกิดจากที่เราได้สิ่งที่เราต้องการ หรือการได้รับในสิ่งที่ร้องขอ หรือรู้สึกว่าเราควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ หากความสุขคือปฏิกิริยาตอบสนองที่เรามีต่อชีวิตของเราเอง ไม่ว่าเหตุการณ์วันนี้ของชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร คุณสามารถเลือกที่จะมีความสุขกับมันได้ตลอดเวลา
ดังนั้นหากมองความสุขเช่นนี้ ความสุขก็ไม่ใช่ความรู้สึกแต่เป็นสภาวะหนึ่งของชีวิต ความสุขมิได้บังเกิดจากเหตุการณ์ที่นอกเหนือจากอิทธิพลของตัวเรา หรือไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับชัยชนะบางอย่าง

-ความสุข คือ วิถีของชีวิต
-ความสุข คือ การบอกกับตัวเองว่า “ใช่เลย” “ขอบคุณ” และ “ฉันรับได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง”
-ความสุข คือ การปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกต่อต้าน และ ความดื้อดึงที่ไร้สาระ และเลือกที่จะเปิดใจ
-ความสุข คือ การใช้ชีวิตให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้และสามารถพูดกับตัวเองได้ว่า “ฉันช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้”

ความสุข ไม่ได้ขึ้นกับว่า สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกดีหรือไม่ หรือว่า สิ่งต่างๆมันเป็นไปในแบบที่เราต้องการให้มันเป็นหรือเปล่า
เราเลือกที่จะมีความสุขเพราะว่ามันเป็นทางเลือกที่ฉลาดและเหมาะสมที่สุดที่เราสามารถเลือกให้กับชีวิต แต่ไม่ใช่เพราะว่ามันฟังดูแล้วเข้าท่า
เคยไหมบางครั้งที่คุณพูดกับตัวเองว่า “เนี่ยนะถ้าฉันรวยกว่านี้ มีงานทำที่ดีกว่านี้ มีแฟนที่เจ๋งกว่านี้ และ ....... กว่านี้ ฉันก็จะมีความสุขมากกว่านี้” ในความเป็นจริงนั้นมันเกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม เพียงคุณทำตัวให้มีความสุข โลกใบนี้ก็จะให้ของขวัญอันแสนล้ำค่าแก่คุณ

เมื่อคุณสรรเสริญให้กับชีวิตตนเอง ชีวิตก็สรรเสริญคุณกลับ เมื่อถึงตอนนั้นคุณก็จะสัมผัสได้ว่า ความมหัศจรรย์และความลี้ลับที่คุณได้รับจากการสัมผัสกับชั่วทุกขณะของประสบการณ์ต่างๆ นั้นมันยิ่งใหญ่กว่าที่คุณสามารถจินตนาการเหลือคณานับ การเลือกที่จะมีความสุข คือการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีชีวาได้ในทุกขณะ โดยไม่ต้องสนใจว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร คุณว่ามันช่างน่าขันมั้ยหละ ที่ว่าเราต่างก็พยายามเสาะหาทุกวิถีทางที่จะทำให้เรามีความสุข ทั้งๆที่สามารถทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการ “ยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและมีความสุขกับทุกๆขณะของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา”

การปฏิบัติตัวในการเลือกที่จะมีความสุขเป็นประหนึ่งบทเรียนในวิชาการยอมรับและความรู้สึกเชื่อใจ ความสงบสุขลึกๆก็จะเริ่มเกิดขึ้นในจิตใจ และหากเราเข้าใจถึงวิถีของชีวิตและปล่อยให้เป็นตามครรลองของมัน เราก็เป็นตัวของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น มันเป็นการยอมรับว่าชีวิตนี้นี่แหละ “ใช่เลย” โดยไม่พยายามไปแทรกแซงหรือควบคุมวิถีของมัน ความสุขในแบบนี้ไม่ใช่ความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว มันไม่เกี่ยวกับสิ่งไหน หรือเกิดจากใคร ที่จะทำให้มันเกิดขึ้นหรือว่าไม่เกิดขึ้น เพียงแค่เรายืนยันกับตัวเองว่าเราเลือกที่จะมีความสุข ก็ไม่มีใครหรือสิ่งใดจะมาพรากความสุขนั้นไปจากเราได้ เพราะว่าเราคือผู้ควบคุมทุกสิ่งอย่างในชีวิตของเราเอง

ความพยายามที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเพื่อที่จะทำให้รู้สึกดีนั้นช่างเป็นความพยายามที่สูญเปล่า อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่อธิบายว่าทำไมเหล่านักโทษจึงเรียนรู้บทเรียนเรื่องนี้ได้รวดเร็วกว่าคนทั่วไปเช่นเรา เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย และไม่สามารถแม้แต่จะคิดหวังไปควบคุมอะไร ทางเลือกที่พวกเขามีจึงชัดเจน และเราก็สามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้

เอกสารอ้างอิง:
Carlson, R. and Carlson, K. Don't Sweat the Small Stuff. New York, Hyperion, 1999

เกี่ยวกับผู้เขียน:
ดร. รูธ เชอรี่ เป็นนักจิตวิทยาคลินิก ในเมือง San Luis Obispo มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเผชิญกับภาวะวิกฤติในวัยกลางคน ดร.เชอรี่ ฝึกสอนการทำสมาธิเป็นกลุ่ม ให้กับบุคคลทั่วไปและให้กับนักโทษในเรือนจำแห่งมลรัฐ

บทความนี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกเมือวันที่ 16 ธันวาคม 2551

ถอดความเป็นภาษาไทยโดย น้ำผึ้ง ปทานุคม (B.Sc., MBA, MSCP) โดยได้รับอนุญาติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Marlene M. Maheu, Ph.D.(ดร.มาลีน มาฮิว) แห่ง SelfhelpMagazine
เลือกอ่าน ต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษ